เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (ฝรั่งเศส: Ordre National de la L?gion D'honneur, ออกเสียง: [??d? nasj?nal d? la le?j?? d?n??]; อังกฤษ: National Order of the Legion of Honour) เป็น "เครื่องอิสริยาภรณ์สำหรับคณะอัศวิน" (ฝรั่งเศส: Ordres de chevalerie; อังกฤษ: Chivalric order) ชั้นสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส สถาปนาขึ้นโดย นโปเลียน โบนาปาร์ต เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2345 มีห้าชั้น ได้แก่ ประถมาภรณ์ ทุติยาภรณ์ ตริตาภรณ์ จตุรถาภรณ์ และเบญจมาภรณ์ ตามอันดับ
ปัจจุบัน มีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นประธาน และรักษาไว้ที่ "ตำหนักเลฌียงดอเนอร์" (ฝรั่งเศส: Palais de la L?gion D'honneur) ริมฝั่งซ้ายน้ำแซน ณ กรุงปารีส ทั้งนี้ คำว่า "เลฌียงดอเนอร์" มีความหมายว่า "กองพลเกียรติยศ" และคติพจน์แห่งเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ คือ "เกียรติยศและปิตุภูมิ" (ฝรั่งเศส: Honneur et Patrie; อังกฤษ: Honour and Fatherland)
ปัจจุบัน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นประธานแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ และนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานโดยตำแหน่ง โดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งตามที่ประธานแต่งตั้งเป็นเลขาธิการแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าว
ประธานมีอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลเป็นสมาชิกตามชั้นสูงต่ำโดยสมควร และเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
บุคคลผู้มีสัญชาติฝรั่งเศสอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในการสนองราชการพลเรือนหรือราชการทหาร เป็นต้นว่า ทหารผ่านศึก ซึ่งปรกติมักเริ่มที่ชั้นเบญจมาภรณ์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการขยายวงผู้อาจได้รับแต่งตั้งไปถึงผู้มีสัญชาติอื่นแต่ได้มีความชอบเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสอย่างถึงขนาดด้วย เป็นต้นว่า เซลีน ดิออน นักร้องชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ได้รับมอบเบญจมาภรณ์เลฌียงดอเนอร์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ในฐานะที่ได้สนับสนุนให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้นไปในสากล กับทั้งประมุขแห่งรัฐต่างประเทศและคู่สมรส ตลอดจนราชวงศ์ต่างประเทศ ก็อาจได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ตามมารยาทในการเจริญสันถวไมตรี
ทั้งนี้ มีข้อห้ามมิให้แต่งตั้งสมาชิกแห่งรัฐสภาเป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ เว้นแต่กรณีที่ผู้นั้นมีความชอบในราชการสงคราม กับทั้งห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีเสนอให้ผู้ช่วยปฏิบัติงานส่วนตนได้รับมอบด้วย
เพื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกในชั้นสูงขึ้น ผู้นั้นต้องมีความดีความชอบใหม่นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์ในชั้นปัจจุบันเป็นต้นไป
เมื่อแรกสถาปนาเครื่องอิสริยาภรณ์ มีการจำกัดจำนวนสำหรับแต่ละชั้นไว้ดังต่อไปนี้ 1) ประถมาภรณ์ ให้มีสมาชิกเจ็ดสิบห้าคน 2) ทุติยาภรณ์ ให้มีสมาชิกสองร้อยห้าสิบคน 3) ตริตาภรณ์ ให้มีสมาชิกหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบคน 4) จตุรถาภรณ์ ให้มีสมาชิกหนึ่งหมื่นคน และ 5) เบญจมาภรณ์ ให้มีสมาชิกหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันสี่ร้อยยี่สิบห้าคน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา จำนวนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปดังต่อไปนี้ 1) ประถมาภรณ์ ให้มีหกสิบเอ็ดคน 2) ทุติยาภรณ์ ให้มีสามร้อยยี่สิบเอ็ดคน 3) ตริตาภรณ์ ให้มีสามพันหกร้อยยี่สิบหกคน 4) จตุรถาภรณ์ ให้มีสองหมื่นสองพันสี่ร้อยเอ็ดคน และ 5) เบญจมาภรณ์ ให้มีแปดหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบเอ็ดคน ด้วยจำนวนที่มากมายนี้ จึงมีเรื่องตลกของประเทศฝรั่งเศสอยู่ว่า ประชาชนกว่าครึ่งประเทศต้องการเป็นสมาชิกเครื่องอิสริยาภรณ์ และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว
บุคคลผู้ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ และได้กระทำความผิดอาญาตามกฎหมาย ย่อมถูกเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์
การประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิจะกระทำถือเป็นความผิดอาญา และห้ามมิให้ชาวฝรั่งเศสประดับสายสะพายอิสริยาภรณ์ต่างประเทศซึ่งมีสีแดงเหมือนเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์แบ่งเป็นห้าชั้นและมีเครื่องยศตามชั้นสูงไปต่ำดังต่อไปนี้ :
นอกจากนั้นมีบุคคลต่างชาติที่ได้รับอิสริยาภรณ์นี้อีก อาทิ คลินท์ อิสต์วู้ด ดาราภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา และ พ.ญ. แอนสัน ชาน อธิบดีกรมสาธารณสุขฮ่องกง เป็นต้น